หนังสือนิทานสำหรับเด็ก เมฆเริงรำ สายน้ำร้องเพลง เล่ม 2 โดยรัถยาคม
สำหรับเด็กเล็ก สาระที่เหมาะสมสำหรับวัยของเขาจึงเป็นเรื่องราวจากยุคสมัยที่อยู่ห่างไกลจากปัจจุบันมากที่สุด หาใช่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือสถานการณ์ปัจจุบันของโลกไม่ หากเป็นเรื่องราวดั้งเดิมที่สุดของมนุษย์ นั่นคือนิทานซึ่งเล่าขานถึงเส้นทางการพัฒนาตนของคนเรา และช่วยปูพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้แก่เด็ก
นิทานมาจากห้วงลึกที่สุดของจิตมนุษย์ จึงเป็นวรรณกรรมที่เหมาะสมต่อความรู้สึกนึกคิดและหัวใจของเด็กมากที่สุด ชนิดที่ไม่มีวรรณกรรมอื่นใดเทียบได้ เป็นการนำปรีชาญาณทางจิตวิญญาณอันมั่งคั่งมาแสดงออกในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด
รัถยาคม
สถาบันเพื่อการศึกษาแนววอลดอร์ฟและมนุษยปรัชญา
เล่ม 2 (สีชมพู) 154 หน้า
ขนาดรูปเล่ม: 15 X 21 ซม
วิธีใช้
นิทานที่รวบรวมไว้ในเล่มนี้เราพยายามนำมาจากต้นฉบับดั้งเดิม เพื่อรักษาความหมายไว้ให้ดีที่สุด พร้อมกันนั้นก็ได้จัดแยกไว้สำหรับเด็กแต่ละวัยตามความเหมาะสมของพัฒนาการเด็ก แต่ขอให้เข้าใจว่าการจัดนี้เป็นไปอย่างคร่าว ๆ เพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น ไม่อาจถือเป็นกฎตายตัวได้ การวินิจฉัยว่าเรื่องใดเหมาะกับสำหรับเด็กวัยใดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก มีแต่ประสบการณ์ในการเล่าให้เด็กฟังมานานด้วยความพยายามที่จะเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของนิทานและเข้าใจเด็กที่ฟังเท่านั้น จึงจะช่วยพัฒนาวิจารณญาณของเราในด้านนี้ขึ้นได้
นิทานแต่ละเรื่องให้ภาพความคิดฝันและอื่น ๆ แก่เด็กได้มากมายพอแล้ว ก่อนวัย 6 ขวบเด็กยังไม่ต้องการปริมาณที่หลากหลาย หากได้ฟังคราวละหลายเรื่องกลับจะทำให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้นในใจเด็ก เป็นเหตุให้ความคิดกระจัดกระจายไม่อาจรวมศูนย์ได้ นิทานเรื่องหนึ่ง ๆ เด็กสามารถฟังซ้ำ ๆ ได้หลายครั้ง (ครั้งละเที่ยวเดียว) ไม่จำเป็นและไม่ควรเปลี่ยนเรื่องใหม่ทุกวัน เด็กต้องการเวลาค่อย ๆ ซึมซับเนื้อหาอันมากมายในนิทานแต่ละเรื่องทุก ๆ ครั้งที่ได้ฟัง
เวลาเล่านิทานให้เด็กฟัง ไม่ควรอธิบายความหมายของเนื้อเรื่อง หรือสรุปคติสอนใจให้เด็กฟัง เด็กจะเข้าถึงความหมายลึก ๆ ของนิทานได้โดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว เขาจะซึมซับภาพแห่งจินตนาการเข้าไว้และรู้สึกเชื่อมโยงกับมันอย่างแนบแน่น เพราะมันกล่าวถึงความเป็นไปของตัวเขาและโลก ทั้งยังให้แบบอย่างของมนุษย์ผู้เผชิญชีวิตในทางที่ถูกที่ควรแก่เขา เมื่อเด็กเติบใหญ่เจริญวัยขึ้น ความหมายของนิทานในความเข้าใจของเขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น
บางสถานการณ์ในชีวิตที่เป็นเรื่องยากที่เราจะจัดการ หรือรับมือกับมันได้ นี่เป็นโอกาสที่นิทานจะช่วยเด็กในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เช่นนั้น ใน เมฆเริงรำ สายน้ำร้องเพลง (2) นี้ นิทานบางเรื่องก็มีขึ้นเพื่อช่วยให้เด็กรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เช่น บนหลังนก จะช่วยให้เด็กที่ไม่ยอมนอนเข้านอนได้ง่ายขึ้น เด็กน้อยกับดอกไม้ จะช่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องให้ดีขึ้นได้
บางครั้งเหตุการณ์หรือพฤติกรรมบางอย่างในนิทานซึ่งฟังดูโหดร้ายรุนแรง อาจสร้างความกังวลใจให้แก่บางคน เกรงว่าจะไม่เหมาะสมที่จะเล่าให้เด็กฟัง หรือจะสร้างความหวาดกลัวแก่เด็ก อันที่จริงแล้วไม่มีความรุนแรงใดในนิทานดั้งเดิมที่มีขึ้นเพื่อตัวมันเองหรือโดยไร้สาเหตุเลย เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังหยั่งไม่ถึงภาพสัญญลักษณ์ดังกล่าวเท่านั้นเอง นอกจากนั้นการที่เด็กได้ฟังนิทานจากการเล่าของผู้ใหญ่ แล้วสร้างภาพขึ้นเองในจินตนาการ ภาพที่เด็กสร้างจะไม่รุนแรงเกินกว่าที่ตัวเด็กเองจะรับได้ ผิดกับการดูจากโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือหนังสือภาพ ซึ่งเป็นการยัดเยียดภาพใส่เด็กโดยที่เขาไม่อาจป้องกันตัวได้เลย
ทางที่ดีที่สุดควรเล่านิทานโดยปราศจากการต่อเติม ตัดทอน ยกตัวอย่าง หรือภาพประกอบ เราไม่จำเป็นจะต้องท่องจนขึ้นใจ แต่ควรจับภาพแต่ละภาพที่ต่อเนื่องกันไปได้จนถึงแก่น แล้วมองภาพเหล่านั้นให้เห็นมากที่สุดที่จะทำให้โดยถูกต้องเที่ยงตรงและมีสีสัน หากไม่ชอบนิทานเรื่องใด หรือหากเรื่องนั้นดูไม่น่าจะเหมาะสมสำหรับจุดประสงค์ของเรา ก็ไม่ควรเล่า แต่ไม่ควรจะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อเรื่อง ในความรู้สึกของเด็ก นิทานมีชีวิตของมันเอง ซึ่งผู้เล่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามใจชอบไม่ได้
ขณะเล่านิทานให้เด็กฟัง สิ่งสำคัญคือบรรยากาศที่มีมนต์สะกด มีความใกล้ชิด มีความสงบ ความโกรธของพระราชาจะต้องเป็นความโกรธในนิทาน อันตรายจากแม่มดก็เป็นอันตรายในนิทาน ผู้เล่าควรพยายามเข้าถึงนิทานให้ได้ในแบบเดียวกับผู้เฒ่าผู้แก่ในกาลก่อน หากผู้เล่านำทัศนคติสมัยใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความแคลงใจ การเสียดสี เย้ยหยัน การคัดง้างตามหลักเหตุผล ก็จะกัดกร่อนบรรยากาศแห่งนิทานไปเสีย วิธีเล่านิทานที่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กคือเล่าด้วยน้ำเสียงปกติ มีชีวิตชีวา แต่ไม่เร้าอารมณ์ ขณะเดียวกันก็ไม่ราบเรียบจนไร้ความรู้สึก
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กทั้งหลายจะเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าล้ำลึกของนิทานในการบ่มเพาะพัฒนาเด็ก จนกระทั่งสามารถคืนบทบาทสำคัญที่นิทานมีต่อชีวิตเด็กกลับไปได้ตามที่เคยเป็นมาหลายต่อหลายศตวรรษแล้ว