หนังสือนิทานสำหรับเด็ก เมฆเริงรำ สายน้ำร้องเพลง เล่ม 1 โดยรัถยาคม
นิทานที่รวบรวมไว้ในเล่มนี้คือนิทานที่ใช้อยู่ที่ปัญโญทัย เป็นเล่มแรกของนิทานที่เรากำลังรวบรวมไว้ และจะมีเล่มอื่น ๆ ติดตามมาในอนาคต ซึ่งนอกจากจะมีจำนวนนิทานมากขึ้นแล้วยังจะให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับการใช้และการตีความนิทานให้ลึกซึ้งขึ้นด้วย
ในเล่มนี้ท่านจะได้พบทั้งนิทานที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนและนิทานที่่คุ้นหู หลายท่านอาจแปลกใจที่พบว่านิทานบางเรื่องซึ่งเป็นที่แพร่หลาย ในเล่มนี้กลับมีเนื้อเรื่องแตกต่างไปจากที่เคยรู้จัก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องดังกล่าวผ่านการแก้ไขดัดแปลงโดยผู้ที่ขาดความเข้าใจในความหมายของนิทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ แต่นิทานในเล่มนี้เราพยายามนำมาจากต้นฉบับดั้งเดิม เพื่อรักษาความหมายไว้ให้ดีที่สุด
ในการจัดทำหนังสือนิทานเล่มนี้จนสำเร็จลุล่วงไปได้นั้น ต้องขอขอบคุณ Wynstones Press อังกฤษ ที่อนุญาตให้นำนิทานจากหนังสือของสำนักพิมพ์มาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยและสมาคมปฐมวัยวอลดอร์ฟแห่งทวีปอเมริกาเหนือ ที่อนุญาตให้นำนิทานจากวารสารของสมาคมมาถ่ายทอด
จันทร์เพ็ญ พันธุ์โอสถ
รัถยาคม
สถาบันเพื่อการศึกษาแนววอลดอร์ฟและมนุษยปรัชญา
เล่ม 1 (สีฟ้า) 142 หน้า
ขนาดรูปเล่ม: 14 X 21 ซม.
วิธีใช้
นิทานที่รวบรวมไว้ในเล่มนี้ได้จัดแยกไว้สำหรับเด็กแต่ละวัย แต่ขอให้เข้าใจว่าการจัดนี้เป็นไปอย่างคร่าว ๆ เพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น ไม่อาจถือเป็นกฎตายตัวได้ การวินิจฉัยว่าเรื่องใดเหมาะกับสำหรับเด็กวัยใดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก มีแต่ประสบการณ์ในการเล่าให้เด็กฟังมานานด้วยความพยายามที่จะเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของนิทานและเข้าใจเด็กที่ฟังเท่านั้น จึงจะช่วยพัฒนาวิจารณญาณของเราในด้านนี้ขึ้นได้
นิทานแต่ละเรื่องมีระดับความซับซ้อนแตกต่างกันไป แต่แทบทุกเรื่องมีปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปใดก็ได้ ระดับของปัญหาจะเป็นเครื่องบ่งบอกว่านิทานเรื่องนั้นเหมาะสำหรับเด็กเล็กหรือเด็กโต อีกประการหนึ่งคืออุปสรรคที่ตัวเอกจะต้องฟันฝ่านั้นหนักหนาเพียงใด การถูกแม่มดจับไปเป็นอาหาร หรือถูกพระราชาทดสอบถึง 3 ครั้ง 3 ครา กว่าจะได้แต่งงานกับเจ้าหญิง ย่อมเกินกว่าเด็ก 3 ขวบจะทานทน เด็กวัยนี้จะชื่นชอบนิทานง่าย ๆ ที่มีลำดับเหตุการณ์ซ้ำ ๆ เช่น ตากับยาย ขณะที่เด็ก 5 6 ขวบซึ่งอยู่ในวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงภายใน ต้องการความท้าทายและการฟันฝ่ามากขึ้น ต้องการฟังเรื่องราวที่จะช่วยให้เขาเข้าใจและจัดการกับความขัดแย้งภายในตัวเขาได้
เวลาเล่านิทานให้เด็กฟัง ไม่ควรอธิบายความหมายของเนื้อเรื่อง หรือสรุปคติสอนใจให้เด็กฟัง เด็กจะเข้าถึงความหมายลึก ๆ ของนิทานได้โดยไม่รู้ตัวอยู่แล้ว เขาจะซึมซับภาพแห่งจินตนาการเข้าไว้และรู้สึกเชื่อมโยงกับมันอย่างแนบแน่น เพราะมันกล่าวถึงความเป็นไปของตัวเขาและโลก ทั้งยังให้แบบอย่างของมนุษย์ผู้เผชิญชีวิตในทางที่ถูกที่ควรแก่เขา เมื่อเด็กเติบใหญ่เจริญวัยขึ้น ความหมายของนิทานในความเข้าใจของเขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น
เหตุการณ์หรือพฤติกรรมบางอย่างในนิทานซึ่งฟังดูโหดร้ายรุนแรง อาจจะสร้างความกังวลใจให้แก่บางคน เกรงว่าจะไม่เหมาะสมที่จะเล่าให้เด็กฟัง หรือจะสร้างความหวาดกลัวแก่เด็ก อันที่จริงแล้วไม่มีความรุนแรงใดในนิทานดั้งเดิมที่มีขึ้นเพื่อตัวมันเองหรือโดยไร้สาเหตุเลย เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังหยั่งไม่ถึงภาพสัญญลักษณ์ดังกล่าวเท่านั้นเอง นอกจากนั้นการที่เด็กได้ฟังนิทานจากการเล่าของผู้ใหญ่ แล้วสร้างภาพขึ้นเองในจินตนาการ ภาพที่เด็กสร้างจะไม่รุนแรงเกินกว่าที่ตัวเด็กเองจะรับได้ ผิดกับการดูจากโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือหนังสือภาพ ซึ่งเป็นการยัดเยียดภาพใส่เด็กโดยที่เขาไม่อาจป้องกันตัวได้เลย เพราะภาพที่เด็กสร้างขึ้นเองในใจมิได้โหดร้ายเท่าภาพในความคิดของผู้ใหญ่แต่ประการใด สำหรับเด็กแล้ว ภาพแม่มดที่ถูกประหารชีวิตก็คือภาพของความชั่วร้ายที่ถูกความดีงามเข้าทำลายเท่านั้น ซึ่งก็คือภาพที่แท้จริง หาใช่ภาพที่เจิ่งนองด้วยเลือดแบบผู้ใหญ่ไม่
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กทั้งหลายจะเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าล้ำลึกของนิทานในการบ่มเพาะพัฒนาเด็ก จนกระทั่งสามารถคืนบทบาทสำคัญที่นิทานมีต่อชีวิตเด็กกลับไปได้ตามที่เคยเป็นมาหลายต่อหลายศตวรรษแล้ว