หนังสือ โรงเรียนทางเลือก เลือกให้แน่ไม่แพ้ฟินแลนด์ เล่ม 1 และเล่ม 2
หนังสือที่สั่งสมจากประสบการณ์ตรงของแม่ลูกสอง จากประสบการณ์ทำงานกว่า 25 ปี ได้สัมภาษณ์คนมาสมัครงานจำนวนหลายพัน เมื่อเธอมีลูก เธอก็เริ่มต่อจิ๊กซอว์บางอย่าง ว่าอะไรคือเหตุของปัญหาของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่ต้องคอยบอกขั้นตอนอย่างละเอียดยิบ ต้องการประสบความสำเร็จเร็วๆ ไม่ต้องการคำติต้องการแต่คำตอบ และมักจะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองมีความสุขแบบง่ายๆ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ค้นพบว่า สิ่งสำคัญที่มีผลกระทบกับเด็กๆ รุ่นใหม่นั้น มีผลโดยมากมาจากระบบการศึกษา
เมื่อได้ลงมือค้นหาคำตอบ จนพบว่า มีโรงเรียนในหลักสูตร Waldorf ของ Dr. Rudorf Steiner ที่เน้นพัฒนาเด็กผ่านการลงมือทำ เน้นการสอดประสานความสอดคล้องผ่าน Hand Head Heart หนึ่งสมองสองมือและหนึ่งใจ เป็นการศึกษาแบบค่อยๆ ย่อย Slow digestion และมีวิธีป้อนความรู้แบบที่เด็กได้ว้าวด้วยตนเอง จึงทำให้เธอค้นพบคำตอบที่ไม่เพียงแต่จะมีผลดีกับลูกๆ ของเธอ และเธอยังแบ่งปันประสบการณ์ผ่านเพจ A Real Working Mom มากว่า 9 ปี จนเป็นเพจที่มีพ่อแม่หลายคนได้รับคำตอบที่ตัวเองต่างก็ค้นหามาเช่นกัน เป็นคู่มือพ่อแม่ ที่เหมาะกับเด็กแรกเกิดถึง 21 ปี ผ่านข้อเขียนบทความยอดนิยมจากเพจ และบทความที่เขียนขึ้นใหม่ ที่จะมีเฉพาะแต่ในหนังสือเท่านั้น อ่านง่าย เข้าใจง่าย พร้อมภาพประกอบที่วาดขึ้นใหม่ทั้งหมด 4 สีตลอดเล่ม พิมพ์บนกระดาษถนอมสายตา ขนาด Pocket Book 14.5 x 21 ซม. เป็นหนังสือคู่มือประจำพ่อแม่ที่ควรมีติดบ้าน หรือเป็นของฝากให้กับครอบครัวมือใหม่ ครอบครัวเพื่อนรัก และทุกครอบครัวที่ต้องการมีใครสักคนอยู่ใกล้ๆ คอยให้คำแนะนำประกบไปกับแต่ละขวบปีของลูก
คำนำผู้เขียน
A Real Working Mom เกิดจากเพจเล็ก ๆ ที่ผู้เขียนได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งผู้เขียนและแฟนเพจมักจะใช้เรียกแทนเพจและผู้เขียนเป็นชื่อย่อว่า ARWM (ในหนังสือนี้ก็จะมีการใช้คำนี้แทนตัวผู้เขียนตลอดทั้งเล่ม) เพจนี้ตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ตามแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟ ประยุกต์กับความรู้ความเข้าใจของผู้เขียนเอง นอกจากความรู้ความเข้าใจในแนวทางเลี้ยงลูกที่ผู้เขียนได้รับมาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ หรือจากที่ค้นพบได้ด้วยตนเอง ในเพจก็มักจะมีพ่อแม่ผู้มีความสงสัยหรือปัญหาในการเลี้ยงลูกมาสอบถามแลกเปลี่ยนความคิดอย่างสม่ำเสมอผู้อ่านสามารถติดตามเพจ https://facebook.com/ARealWorkingMom เพื่ออ่านบทความอื่น ๆ และพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นบนเพจได้ทุกวันเช่นกันค่ะ
คำนิยมโดยคุณตัน ภาสกรนที
เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครับ อินเทอร์เน็ต ความเชื่อ ค่านิยม บางคนเรียก “การพัฒนา” แต่ผมคิดว่ามันคือ “ความไม่แน่นอน” ความไม่แน่นอนก็มีทั้งตอนจบที่ดี และตอนจบที่ไม่ดี
เมื่ออนาคตเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนที่หมุนเร็วขึ้นจนคาดเดาลำบาก ความพร้อมที่ดีที่สุดที่เราในฐานะพ่อแม่จะให้ลูกได้คือ “ความสมบูรณ์ของใจ” ให้โอกาสเด็กได้โตอย่างเด็ก โตตามธรรมชาติ โตอย่างมีคุณภาพ โดยมีความรักของพ่อแม่หล่อหลอม ผมว่าเท่านี้ก็เพียงพอต่ออนาคตของลูกแล้วครับ
การสอนตามแนววอลดอร์ฟเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการสร้างความสมบูรณ์ด้านจิตใจให้กับเด็ก ไม่เป็นตามแบบเรียน ไม่มีแบบแผน... แต่เป็นไปตามธรรมชาติ และเด็กคือธรรมชาติครับ
คำนิยมโดยคุณชาลอต โทณวณิก
ชื่อหนังสือเล่มนี้ถูกใจดิฉันมากเพราะตรงกับชีวิตจริงที่สุดในฐานะ working mom ดังนั้นเมื่อถูกขอให้เขียนคำนิยมจึงมิได้รั้งรอ และเมื่อได้มาศึกษาประวัติของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ก็ยิ่งพบว่า นอกจากความรักที่ผู้เขียนใช้เป็นเครื่องปรุงหลักในการปรุงหนังสือเล่มนี้ ยังมาที่การนำความคิดของรูดอล์ฟ สไตเนอร์มาใช้ในเมืองไทยโดยผ่านโรงเรียนปัญโญทัยที่มีเป้าหมายที่กินใจดิฉันมากคือ “จุดมุ่งหมายเราคือสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้แก่เด็ก”
ต้องยอมรับว่าการเป็นแม่มันยากแต่การเป็นแม่ที่ต้องทำงาน (โบราณว่ามือก็ไกวดาบก็แกว่ง) นั้นยากยิ่งกว่า เพราะการทำงานในสมัยนี้โดยเฉพาะหากต้องเข้าสู่สภาพผู้บริหารแล้วแทบจะกินเวลาของเราไปทั้งหมด ไม่ใช่ 9 (am) to 5 (pm) หรือจะมีวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ที่แน่นอนเหมือนคนอื่น เรียกว่าร้านสะดวกซื้อเรียกแม่เช่นกัน เพราะ 7-24 จริง ๆ งานบางงานเรื่องก็ต้องติดมาในสมองเพื่อคิด แต่ “แม่ก็คือแม่” ลูกนั้นต้องสำคัญที่สุดอยู่แล้ว และเราจะทำให้ work life ลูก balance ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องผจญมาตลอด 20 กว่าปี และเมื่อถึงจุดที่ลูกโตมาขนาดนี้ยังคิดว่ามีหลายอย่างที่ “อยาก” ทำหรือ “ควรจะทำ” แต่ยังไม่ได้ทำแต่ก็โชคดีที่ “รากแก้ว” คือ “ความรัก” ที่สร้างฐานไว้ให้เขาได้ยึดโยงเขาไว้ทำให้เป็นคนที่มีจิตใจและคุณภาพที่ดี
ขอขอบคุณผู้เขียนที่กลั่นกรองออกมาจากดวงใจของคนเป็นแม่ สุดท้ายแล้ว เราต้องหาคำตอบให้ตัวเรา ครอบครัวเราว่าเราอยากมีลูกที่ฉลาดล้ำโลกเก่งล้ำใคร IQ ยอด แต่ EQ และการมีปฏิสัมพันธ์แย่ เมื่อเขาไม่มีช่วงเวลาวัยเด็ก เพราะสิ่งที่เขาอาจจะขาดหายไปคือ “ชีวิตวัยเด็ก” และความผูกพันของครอบครัว
ทั้งนี้ ไม่มีอะไรผิดถูก ขึ้นกับเป้าหมายของแต่ละครอบครัว
ด้วยความชื่นชนผู้เขียน ที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ในหลายมิติของชีวิตของ working mom"