MRSA คืออะไร พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

 MRSA คืออะไร

จากกรณีพบเชื้อแบคทีเรียชื่อ "เอ็มอาร์เอสเอ" (Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus) ข่าวดังเมื่อต้นสัปดาห์ ในเรื่องของผู้ป่วยที่โชคร้ายที่ติดเชื้อโรคดื้อยา จนเข้ารับการผ่าตัดถึง 5 ครั้ง จากคนธรรมดากลายเป็นคนพิการภายในพริบตา เพื่อเกาะกระแสถึงเชื้อโรคชนิดนี้ จึงแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักเชื้อโรคชนิดนี้กัน
                
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เชื้อเอ็มอาร์เอสนั้นเป็นเชื้อโรคที่มีอยู่ทั่วไป คนปกติที่เดินตามท้องถนนก็สามารถมีเชื้อโรคนี้ได้โดยไม่รู้ตัว และจะพบได้ตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ เพราะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคมากมาย แต่ถ้ามีการจัดการและควบคุมเชื้อโรคที่ดีก็จะสามารถจัดการได้ สำหรับคนไข้ที่อ่อนแอมากๆก็จะสามารถติดเชื้อได้ ซึ่งในทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเชื้อดังกล่าวไม่ได้ร้ายแรงมากนัก แต่เหตุที่มันดื้อยานั้นเกิดมาจากเชื้อโรคชนิดนี้เมื่อรักษาด้วยยาชนิดหนึ่ง เชื้อโรคจะเกิดการต่อต้านยาได้รวดเร็วมากจนยาที่เข้าไปนั้นไม่สามารถทำอะไรได้ จึงต้องหายาตัวใหม่ในการรักษา และอีกสาเหตุหนึ่งก็มาจากนิสัยการรับประทานยาปฏิชีวนะของคนไข้ ท่านเคยสังเกตหรือไม่? ว่าเวลาไปซื้อยาแก้อักเสบในร้านขายยาที่มีเภสัชกรหรือตามโรงพยาบาล ยาแก้อักเสบนั้นจะได้รับการเน้นย้ำว่าให้รับประทานยาจนหมดตามที่แพทย์สั่ง แต่ผู้ป่วยเมื่อรับประทานยาแล้วพออาการหายไปก็จะเลิกรับประทานยา จึงทำให้เชื้อโรคเกิดดื้อยา และเมื่อเกิดโรคอีกในครั้งต่อไป ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวยาใหม่ที่แรงขึ้น
                
สำหรับตัวเชื้อนี้ ในต่างประเทศก็มีการตรวจพบที่มากเช่นกัน โดยเจ้าเอ็มอาร์เอสเอ หรือเชื้อแบคทีเรียในตระกูล สเตปไฮโลคอคคัส สามารถต้านทานยาปฏิชีวนะและกำลังสร้างปัญหาอย่างหนักให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆในสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสกอตแลนด์ เพราะนอกจากจะระบาดในหมู่ผู้ป่วยและผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอแล้ว ยังระบาดในหมู่ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงในชุมชนด้วย เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะติดต่อจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งด้วยการสัมผัสทางผิวหนัง และจะทำให้เป็นแผลคล้ายแมลงกัด ซึ่งถ้าไม่รักษาให้ถูกวิธี แผลจะบวมจนกลายเป็นฝีและลุกลามติดเชื้อมากขึ้น แต่ใช่ว่าการรักษาที่ถูกวิธีจะได้ผลเต็มที่เสมอไป เพราะคณะแพทย์ในอเมริกายังไม่แน่ใจว่าเจ้าเชื้อแบคทีเรียที่ระบาดหนักนั้นเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ มันมียีนพีวีแอลเหมือนกัน และยีนตัวนี้ก็มีหน้าที่ในการสร้างโปรตีนพิษ ซึ่งคณะแพทย์เชื่อกันว่ายีนพีวีแอลเป็นต้นเหตุของการระบาดของแบคทีเรียเอ็มอาร์เอสเอ
                
ที่น่าแปลกก็คือ ในกลุ่มผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งมีผิวหนังที่ปราศจากบาดแผลก็สามารถได้รับเชื้อได้ โดยเชื้อจะติดจากการสัมผัสทางผิวหนัง เมื่อมันติดต่อกันง่ายเช่นนี้ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา เด็กนักเรียน เด็กแรกเกิด หรือในหมู่ชาวเกย์ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อทั้งสิ้น โดยปกติแล้วเชื้อโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันทางการมีเพศสัมพันธ์ แต่แพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าคนที่มีคู่นอนหลายคนเสี่ยงต่อการติดโรคมากที่สุด และยังเป็นตัวแพร่เชื้อที่ดีที่สุดเช่นกัน นอกจากนั้น ถ้าเชื้อลามเข้าไปถึงปอดหรือกระแสเลือด จะทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ ปอดบวม หรือเลือดเป็นพิษถึงตายได้ แต่จากรายงานบางกระแสยังระบุว่าเชื้อโรคดื้อยานี้สามารถแพร่เชื้อผ่านทางอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการอักเสบได้อีกด้วย
                วิธีป้องกันคือ การชำระล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ เมื่อมีบาดแผลควรปิดบาดแผลด้วยผ้าพันแผล หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงและโดยอ้อม โดยไม่ควรจับเสื้อผ้าผู้ป่วยหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และหลังจากการผ่าตัดควรดูแลแผลให้สะอาดด้วย นอกจากนั้นถ้ามีอาการคล้ายอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที และควรเคร่งครัดในการรับประทานยาตามแพทย์หรือเภสัชกรสั่ง เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด

ร้าน Baby Best Buy in Thailand
คัดลอกจาก เว็บไซท์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (
www.dmsc.moph.go.th)

 

เชื้อดื้อยา MRSA

MRSA ย่อมาจาก Methicillin resistance Staphylococcus aureus แปลว่า เชื้อ S.aureus ที่ดื้อต่อยาmethicillin
ต้องย้อนความก่อนว่าเจ้าเชื้อ Staphylococcus aureus (ซึ่งต่อไปผมจะเรียกย่อๆว่า S. aureus) ตามปกติแล้ว มันคือเชื้อโรคซึ่งอยู่ตามผิวหนังและช่องจมูกของคนเราตามปกติธรรมชาติอยู่แล้ว และหากเราเกิดแผลที่ตามผิวหนัง มีรอยขีดข่วนเล็กๆเกิดขึ้น เชื้อนี้ก็จะไปก่อให้เกิดฝี หนอง ขึ้นมา ... จริงๆมันเป็นเชื้อที่พบในทุกคนและก่อเรื่องเล็กๆน้อยๆอยู่บ่อยๆอยู่แล้ว
หลังจากมนุษย์สร้างยาปฏิชีวนะขึ้นมา เจ้าเชื้อนี้ก็เริ่มการดื้อต่อยา ... จนในช่วง 1970 ก็ได้มีการค้นพบเชื้อนี้ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะและได้ให้ชื่อว่า MRSA
เจ้า MRSA ที่พบสมัยนั้น มีความน่ากลัวมากทีเดียว เนื่องจากว่าเมื่อมันก่อโรคหรือติดเชื้อไปแล้ว มนุษย์ยังไม่มียาที่จะมาฆ่ามันได้ ดังนั้นการดูแลผู้ที่ติดเชื้อนี้ คือการดูแลด้านอื่นๆที่ไม่ใช้ยา ไม่ว่าจะดูแลเรื่องการทำแผลอย่างดี การรักษาแบบประคับประคอง จากนั้นก็วัดดวงกันว่าใครจะอยู่ใครจะไประหว่างคนไข้กับเชื้อโรค
แม้แต่ในการ์ตูนเรื่อง Super Dr. K ยังมีการยกเอาเรื่อง MRSA มาพูดถึง ในชื่อที่ว่าเป็นโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เนื่องจากว่าในยุคนั้นเชื้อที่จะเจอยาจนกลายร่างเป็น MRSA ได้ ต้องเป็นเชื้อที่เจอยามามากๆซึ่งเจอได้ในโรงพยาบาล
ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไป ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น เป็นไข้เจ็บคอก็ไปซื้อยาแก้อักเสบได้ทันที ปวดท้องท้องเสียก็ซื้อยาฆ่าเชื้อมากินได้ทันที โดยไม่ต้องตรวจหรือพิจารณาก่อนว่าสมควรได้รับยาปฏิชีวนะหรือไม่
ดังนั้นเมื่อการเข้าถึงยาเปลี่ยนไป เชื้อโรคก็ปรับตัวตาม ... เชื้อ MRSA ที่แต่เดิมเคยเจอในโรงพยาบาลเท่านั้น ก็เปลี่ยนมาเจอในชุมชนทั่วไป
เราเรียกมันว่า CA-MRSA หรือเชื้อ MRSA ในชุมชน
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เจ้าเชื้อตัวนี้ได้มีโอกาสได้ลงในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่ว่าน่าเสียดายเหลือเกินทั้งที่เรื่องนี้ไม่ดังเท่าที่ควร ต่างจากโรคภัยไข้เจ็บที่หายากไม่ได้เจอบ่อยๆกลับอยู่ในความสนใจของประชาชนมากกว่า

อะไรที่ทำให้มันน่ากลัว
ไม่ว่าจะเป็นเชื้อ MRSA ในโรงพยาบาล หรือจะเป็น MRSA ในชุมชน ... หรือแม้แต่ S. aureus ธรรมดา ... ความสามารถในการก่อโรคก็ใกล้เคียงกัน
คุณจะเป็นฝีหนองพุพองจากเชื้อตัวใดก็ตาม ผลออกมาก็คล้ายๆกันคือถ้าเป็นไม่มาก มันก็หายของมันเอง (จากภูมิต้านทานของร่างกาย)
มันจะน่ากลัวก็ต่อเมื่อร่างกายเอาไม่ไหว จนกระทั่งต้องพึ่งยาจากภายนอก
ลองนึกภาพว่าถ้าเป็นฝีหนองธรรมดาขนาดครึ่งซม.ที่มือ คุณเดินไปร้านขายยาบอกว่าเป็นแผลมีหนองจะซื้อยา ... ยาที่จะได้มาทันทีก็คงหนีไม่พ้นยากลุ่ม Dicloxacillin (หรือยา Cloxacillin)
แต่ปรากฎว่าเมื่อกินยาแล้ว แผลกลับไม่หาย ยังเป็นต่อเนื่องลุกลามขึ้นอีก
ไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้ยามากิน ก็ไม่หายอีก ... หมอจับนอนโรงพยาบาล ปรากฎว่าให้ยาทางเส้นเลือดก็ไม่หาย แผลลุกลามไปเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว ผ่านไปสัปดาห์เดียวแผลลามไปถึงข้อศอก
จากตัวอย่างที่เห็น ถ้าหากเป็นเชื้อธรรมดา ถ้าดูแลแผลดีๆ กินยาสองสามวันแรกก็มักจะหาย
แต่ว่าถ้าหากมันเป็นเชื้อดื้อยา กินยาฉีดยาก็ไม่หาย กว่าหมอจะเพาะเชื้อแล้วออกผลมาได้ ก็มักมีการลุกลามไปมากแล้ว รักษาครั้งนึงอาจจะนานเป็นเดือนๆ ยาที่ใช้ได้ผลก็มักมีราคาสูงมาก

ใครที่ได้รับผลกระทบบ้าง
เชื้อS.aureus บางส่วนจะอาศัยอยู่บนผิวหนัง และมีอีกส่วนหนึ่งที่อาศัยในรูจมูก ดังนั้นในผู้ที่มีเชื้อS.aureusดื้อยา หรือ MRSA ก็จะมีเชื้อMRSAที่จมูกและผิวหนังเช่นกัน
ผลต่อตนเองก็คือ หากผิวหนังเกิดเป็นแผล ก็อาจเกิดฝีหนองได้
ถ้าหากโชคร้าย เยื่อบุจมูกเป็นแผล เชื้อกระจายเข้าเส้นเลือด แล้วบังเอิญช่วงนั้นเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอพอดี ... ก็อาจจะเกิดปอดบวม หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ผลต่อคนใกล้เคียงคือ หากผู้ที่มีเชื้อนี้ไปใกล้ชิดกับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อดื้อยาอันตรายตัวนี้ให้คนใกล้ชิดได้

การป้องกัน
มีคนเคยถามว่า ถ้าเช่นนั้น เราจัดการรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อได้หรือไม่ คำตอบในขณะนี้คือ ไม่ได้ ... เนื่องจากเมื่อให้ยาไป เชื้อบางส่วนก็จะดื้อยาเพิ่มเติมขึ้นไปอีกไม่รู้จักจบสิ้น
ปัจจุบันเรามียาที่พอจะใช้ได้ตัวนึงชื่อ Vancomycin (ข้อด้อยคือ ต้องฉีด กำจัดเชื้อได้ช้า ผลข้างเคียงสูง แพง) แต่เชื้อก็ดิ้นรนจนได้เชื้อกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า VRSA ซึ่งดื้อต่อยาตัวนี้ไปอีก
ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อMRSAขึ้นมาตั้งแต่ต้น

  •  หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น
    การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น มีแต่จะทำให้เกิดผลเสียก่อกำเนิดเชื้อดื้อยา ดังนั้นหนทางป้องกันแรกก็คือการป้องกันร่างกายเราไม่ให้ก่อกำเนิดเชื้อนี้ขึ้นในร่างกาย
  • ป้องกันการเกิดแผล เมื่อเกิดแผลต้องรักษา
    ในเมื่อเราไม่รู้ว่าเชื้อMRSAนี้อยู่กับตัวใคร ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้เชื้อมันโตในแผลได้ เมื่อเกิดแผลเราก็ต้องทำตามสุขนิสัยเบื้องต้นตามหนังสือเด็กประถม กล่าวคือ รักษาแผลให้สะอาด หาของสะอาดมาปิดแผล และทำแผลให้แห้ง ...
    ปัญหาที่เจอบ่อยคือคนไข้หลายคนเวลามาหาผม แผลมักจะไม่ค่อยดี อาจจะเปียกหรือสกปรก ... ผู้ป่วยหลายคนจะอ้างเหตุจำเป็นของแต่ละคน คำตอบที่ผมมักจะให้กลับคืนไปก็คือ "หมอรับทราบเหตุผล แต่เชื้อโรคมันไม่รับรู้ด้วย" ... สั้นๆง่ายๆ ร่างกายเป็นของตัวเองครับ
  • อย่าใช้ของร่วมกัน
    ค่ายลูกเสือ ค่ายทหาร โรงเรียน มักจะสอนให้รู้จักเอื้อเฟื้อของร่วมกัน ... แต่ว่าโรคที่เราค้นพบกันเดี๋ยวนี้ติดต่อได้หลายทาง ดังนั้นเครื่องใช้ที่ส่วนตัวจริงๆก็แยกใช้เฉพาะคนดีกว่า
  • ถ้ารักษาแผลไม่หายควรไปพบแพทย์
    รวมทั้งไปถามจากคนที่ขายยาให้ว่าเอายาอะไรมาให้กิน ... บทเรียนจากการรักษาผู้ป่วยแผลติดเชื้อรุนแรงหลายคนบอกให้รู้ว่า ผู้ป่วยส่วนมากไปรักษาแล้วไม่รู้ว่าตนได้ยาอะไรมากินและ "ไม่ถามว่ายาที่ได้มากินเป็นยาอะไร" ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจในการให้ยาที่เหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้าในการรักษาตามมา

ร้าน Baby Best Buy in Thailand
คัดลอกจาก เว็บบอร์ดของ MThai เขียนโดย หมอแมว